รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนเมืองราดวิทยาคม โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI โดย นายไพโรจน์ เดชะรัตนางกูร

ชื่อเรื่อง           รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ

โรงเรียนเมืองราดวิทยาคม โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI

ชื่อผู้ประเมิน     นายไพโรจน์  เดชะรัตนางกูร

สถานศึกษา      โรงเรียนเมืองราดวิทยาคม ต.นาซำ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์

ปีที่รายงาน       2565

บทคัดย่อ

          การประเมินโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนเมืองราดวิทยาคม ด้านสภาวะแวดล้อม (Context)  ปัจจัยเบื้องต้น (Input)  กระบวนการ (Process)  ผลผลิตของโครงการ (Product) และผลกระทบ (Impact) โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPI ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินด้านบริบท ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน และครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 2 คน ผู้ให้ข้อมูลในการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการด้านผลผลิต คือ ครูโรงเรียนเมืองราดวิทยาคม จำนวน 28 คน ผู้ให้ข้อมูลด้านผลผลิต ความรู้ในการจัดการขยะ การปฏิบัติในการจัดการขยะ และด้านผลกระทบ จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 โรงเรียนเมืองราดวิทยาคม จำนวน 225 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified  Random Sampling) ตามสัดส่วนนักเรียนตามระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ตามสูตรคำนวณของ ทาโร่ ยามาเน่ ผู้ให้ข้อมูลความพึงพอใจในการดำเนินโครงการ คือ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 30 คน จากเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเมืองราดวิทยาคม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ด้านบริบท มี ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ แบบทดสอบความรู้ แบบประเมินการปฏิบัติ และแบบประเมินตนเอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าทีแบบอิสระ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำผลการคำนวณมาแปลความหมายตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ผลการประเมิน พบว่า

1. ด้านบริบท ของโครงการ (Context Evaluation : C) มีความเหมาะสมสอดคล้องอยู่ในระดับดีมาก วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการมีความสอดคล้องกับปัญหาด้านขยะของโรงเรียน โครงการโรงเรียนปลอดขยะมีความสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของโรงเรียน

2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation : I) บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับดีมาก

3. ด้านกระบวนการของโครงการ (Process Evaluation : P) การดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ ประกอบด้วย 1) กิจกรรมโรงเรียนปลอดขยะ 2) กิจกรรม 5ส ทุกกิจกรรมมีคุณภาพการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก

4. ด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation : P) นักเรียนมีความรู้ในการจัดการขยะ สูงว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 60 การปฏิบัติในการจัดการขยะของนักเรียนอยู่ในระดับปานกลาง ความคิดเห็นของครูที่มีต่อผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด

5. ด้านผลกระทบของโครงการ (Impact Evaluation : I) จิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของนักเรียน อยู่ในระดับปานกลาง ความพึงพอใจในการดำเนินโครงการของผู้ปกครองอยู่ในระดับมาก